FAQs
โครงการสานพลังชุมชนคืนคนสู่ถิ่น มีที่มาอย่างไร ?
: โครงการนี้ได้รับการเห็นชอบในภาพรวมโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งได้ตั้งคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาโครงการสานพลังชุมชนคืนคนสู่ถิ่น ขึ้นมากำกับดูแลทิศทางโครงการ ประกอบด้วยตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินงานโดยภาคประชาสังคมในพื้นที่ (มูลนิธิฮิลาลอะห์มัร) ได้รับการสนับสนุนทุนจากธนาคารโลกซึ่งเป็นหน่วยงานระหว่างประเทศที่กำกับดูแลโดยกระทรวงการคลัง ที่ให้การสนับสนุนช่วยเหลือด้านการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมแก่ประเทศที่ยากจนและประสบปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งเป็นการสนับสนุนความช่วยเหลือแบบให้เปล่าแก่รัฐบาลไทย
โครงการฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำร่องแนวทางการช่วยเหลือทางสังคมและเศรษฐกิจแก่อดีตผู้ได้รับผลกระทบจากคดีความมั่นคงที่ปลดพันธะทางกฎหมายแล้ว กลับมามีชีวิตปกติในฐานะพลเมือง
โครงการมีการช่วยเหลือในรูปแบบใด ?
: การช่วยเหลือในครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ทางรัฐบาลเปิดพื้นที่ให้กับองค์กรพัฒนาเอกชนได้เข้ามามีบทบาทร่วมในการดูแลกลุ่มคนเปราะบางพิเศษ ประสบการณ์นานาชาติชี้ให้เห็นว่าการที่จะให้กลุ่มเปราะบางพิเศษเหล่านี้ (อดีตผู้ได้รับผลกระทบจากคดีความมั่นคงที่ปลอดจากพันธกรณีทางกฎหมายแล้ว) กลับมามีชีวิตปกติในฐานะพลเมือง จำเป็นต้องใช้แนวทางทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมควบคู่กันไป ซึ่งในหลายด้านนั้นเท่าที่ผ่านมาองค์กรในภาครัฐได้ให้บริการอยู่แล้ว แต่อาจไม่ทั่วถึงครอบคลุมหรือขาดการเชื่อมโยงภายใต้บริบทที่อ่อนไหว
ดังนั้น โครงการสานพลังชุมชนคืนคนสู่ถิ่น จึงทำงานในสองระดับคือ การสนับสนุนระดับบุคคลที่จัดอยู่ในกลุ่มเปราะบางพิเศษ ในฐานะ ”ผู้รับประโยชน์จากโครงการ” จำนวน 200 ราย และการสนับสนุนระดับชุมชนที่ผู้รับประโยชน์อาศัยอยู่ โดยให้คนในชุมชน ทั้งผู้รับประโยชน์และคนในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการโครงการฯที่เป็นประโยชน์และช่วยส่งเสริมความพันธ์อันดีภายในชุมชน
ความช่วยเหลือจากโครงการนี้ เหมือนกับที่รัฐให้หรือไม่ ?
: ข้อแตกต่างมีอยู่สามด้านด้วยกัน ประการแรกคือการให้องค์กรเอกชนเข้าร่วมในการดูแล ประการที่สองคือเน้นมิติทางสังคมและเศรษฐกิจที่ตอบสนองความต้องการของผู้ได้รับประโยชน์เป็นหลัก และประการที่สามคือมีการจัดระบบดูแลติดตาม และส่งต่อความช่วยเหลือเพื่อให้บรรลุตามเป้าประสงค์ตลอดระยะเวลาการสนับสนุน
เนื่องจากเป็นโครงการนำร่องจึงจะมีการติดตามประเมินผลและถอดบทเรียนในด้านต่าง ๆ ตลอดระยะเวลาการทำงาน
มีการประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่ไหม ?
: การประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่เป็นหัวใจสำคัญของการทำงาน การประสานมีการดำเนินงานในสองระดับคือ 1) ระดับนโยบาย โดยผ่านกลไกคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการฯ ซึ่งได้แจ้งมายังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ให้ทราบถึงนโยบายรัฐในภาพรวม
2) ระดับพื้นที่ มูลนิธิฮิลาลอะห์มัรจะประสานกับหน่วยงานที่สนับสนุนทางสังคมและเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน เนื่องจากผู้รับประโยชน์จากโครงการเป็นกลุ่มเปราะบาง จึงมีความจำเป็นที่โครงการต้องมีการกำหนดแนวทางในการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานของภาครัฐในระดับท้องถิ่นและท้องที่ด้วย
หากในหมู่บ้านมีคนที่เข้าเกณฑ์ได้รับประโยชน์เกินโควต้าที่โครงการให้มา จะมีวิธีการคัดเลือกอย่างไร และคนที่ไม่ได้รับการคัดเลือกในรอบนี้ จะมีโอกาสได้รับคัดเลือกในรอบหน้าหรือไม่ ?
: ในการคัดเลือกผู้ได้รับประโยชน์ของโครงการนั้น จะมีการตั้งคณะกรรมการคัดเลือกที่ประกอบด้วยผู้นำซึ่งเป็นที่ยอมรับของคนในพื้นที่ (ผู้ใหญ่บ้าน โต๊ะอิหม่าม โต๊ครู และตัวแทนจากอบต.) โดยคณะกรรมการฯ จะร่วมพิจารณาตามเกณฑ์การคัดเลือกได้แก่ เป็นอดีตผู้ได้รับผลกระทบจากคดีความมั่นคง เต็มใจที่จะเข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมโครงการฯ กลับมายังชุมชนแล้วไม่เกินสิบปี มีฐานะยากจน หากเข้าเกณฑ์เท่ากันจะพิจารณาให้ผู้หญิงก่อน เนื่องจากผู้หญิงเป็นกลุ่มคนมีจำนวนน้อยและมักเป็นผู้แบกรับภาระการดูแลครอบคัว
โครงการนี้เป็นโครงการนำร่องให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นได้เพียง 200 คน ดำเนินการภายในระยะเวลาจำกัด 1 ปีครึ่ง เท่านั้น เมื่อสิ้นสุดโครงการจะมีการสรุปบทเรียนและประเมินผล
ช่วยเหลือผ่านใคร ?
: โครงการสานพลังชุมชนคืนคนสู่ถิ่น มีการทำงานเป็นทีมในทุกระดับ จะมีพี่เลี้ยง (เคสเวร์คเกอร์) ที่ดูแลผู้ได้รับประโยชน์รายบุคคลและครอบครัว ในระดับชุมชนก็จะมีผู้ประสานงานพื้นที่ (ฟาซิลิเตเอตร์) ที่จะช่วยสานสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับผู้ได้รับประโยชน์ผ่านการสนับสนุนการจัดทำโครงการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมที่บริหารจัดการโดยชุมชน นอกจากนี้ยังมีที่ปรึกษา (เคาน์เซลเลอร์) ที่จักเชื่อมประสานระหว่างทีมกับหน่วยงานท้องถิ่นและท้องที่ นอกจากนี้ ทางโครงการยังจัดให้มีกลไกรับฟังข้อเสนอแนะจากพื้นที่ และมีเจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน ทั้งนี้สำนักงานยังมีเจ้าหน้าดูแลด้านการเงินและการจัดซื้อจัดจ้างประจำโครงการอีกด้วย และนอกจากทีมงานประจำของโครงการแล้ว เรายังมีองค์กรพัฒนาเอกชนร่วมเป็นหุ้นส่วนในการให้การสนับสนุนทางจิตสังคมและเศรษฐกิจแก่ผู้รับประโยชน์โครงการ
ชุมชนจะได้รับอะไร ?
: จากบทเรียนนานาชาติในการกลับคืนสู่สังคม การทำงานกับผู้ได้รับประโยชน์ต้องดำเนินควบคู่ไปกับการสนับสนุนชุมชนที่พวกเขาอยู่ด้วย งานระดับชุมชนภายใต้โครงการนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้รับประโยชน์กับชุมชน โดยผ่านงบประมาณและกิจกรรมที่ชุมชนตัดสินใจเลือกและบริหารจัดการโครงการเอง ทั้งนี้กิจกรรมชุมชนเหล่านี้จะเป็นช่องทางที่ผู้ที่ไม่ได้รับคัดเลือกและคนอื่นๆ ในชุมชนจะมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมรับประโยชน์จากโครงการนี้
โครงการฯมีกลไกรับฟังความคิดเห็นอย่างไร ?
: กลไกการรับฟังความคิดเห็นโครงการฯ มีสองแนวทางด้วยกัน ช่องทางแรกคือผ่านกลไกที่มีอยู่แล้วของทางภาครัฐที่อยู่ในพื้นที่ ได้แก่ ยุติธรรมชุมชน และศูนย์ดำรงธรรมของกระทรวงมหาดไทย นอกจากนี้ ทางโครงการฯยังจัดให้มีระบบรับเรื่องร้องเรียนในหลายรูปแบบและหลายช่องทางด้วยกัน ทั้งโดยเจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนของโครงการ หรือติดต่อมายังสำนักงานโครงการฯ พร้อมทั้งมีกรอบเวลาชัดเจนในการดำเนินการเรื่องที่ได้รับการร้องเรียนมา
เราจะสามารถตรวจสอบความโปร่งใสของโครงการนี้ได้อย่างไร ?
: ในทุกโครงการที่ทางธนาคารโลกได้ดำเนินงานในทั่วโลก มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีกลไกการติดตามประเมินผลโครงการที่เกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรหรือเงินที่ใช้ไป ลักษณะของกลไกที่เรานำมาใช้มีความเหมือนกันกับทุกโครงการทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก
สำหรับโครงการนี้แล้ว ได้มีการจัดการติดตามตรวจสอบในทุกระดับการปฏิบัติการคือ การสนับสนุนระดับบุคคล หรือผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการ จะมีการตรวจสอบการใช้งบประมาณตามแผนสนับสนุนด้านอาชีพรายบุคคล พี่เลี้ยงและเจ้าหน้าที่โครงการจะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด
สำหรับโครงการในระดับชุมชน จะมีการตั้งคณะทำงานชุมชนขึ้นมาบริหารจัดการโครงการและงบประมาณโดยชุมชนเอง โดยจะมีพี่เลี้ยงจากโครงการช่วยสนับสนุนทางเทคนิคในการฝึกอบรมการบริหารการเงินและจัดซื้อจัดจ้าง
นอกจากนี้ เมื่อปิดโครงการ คณะทำงานชุมชนจะต้องเปิดเผยข้อมูลและผลสำเร็จของการบริหารจัดการโครงการและความสำเร็จให้กับชุมชนได้รับรู้โดยทั่วกัน